ปตท. เปิดเผยผลการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 24 – 28 ต.ค. 65 และแนวโน้ม 31 ต.ค. – 4 พ.ย. 65โดยตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเบรนท์ (ICE Brent) ราคา 95.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +3.05 ตลาดน้ำมันสำเร็จรูป เวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ราคา 86.96 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +2.28 เหรียญ สหรัฐฯ ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปดูไบ (Dubai) ราคา 91.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +2.26 เหรียญ สหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปซื้อซื้อขายล่วงหน้าประเทศสิงคโปร์ ราคาเบนซินออกเทน 95 ปรับราคาเพิ่มขึ้น +0.69 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 95.70 เหรียญ สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดีเซลราคาปรับราคาลดลง -0.68 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 136.73 เหรียญสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ต.ค. 65 เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัว ท่ามกลางรายงานตัวเลขของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ จีน และสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์ โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ +2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ +2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 และ 2/65 GDP สหรัฐฯ หดตัวที่ -1.6% และ -0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ซึ่งทางเทคนิคถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 92-97 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. 65 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสัปดาห์ จากความกังวลการแพร่ระบาด COVID-19 ในจีนระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจีนเพิ่มมาตรการควบคุม COVID-19 ในหลายเมือง อาทิ Guangzhou, Wuhan และ Xining หลังรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ ณ วันที่ 28 ต.ค. 65 อยู่ที่ 1,658 ราย เพิ่มขึ้นจาก 1,506 ราย ในวันก่อนหน้า และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลกปิดตลาดวันที่ 28 ต.ค. 65 เพิ่มขึ้น 0.16 จุด อยู่ที่ 110.75 จุด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องวันที่ 2 จากนักลงทุนคาดการณ์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) จะปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ในวันที่ 1-2 พ.ย. 65
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Reuters รายงาน อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 65 ลดลง 5.6% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 3.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
- 27 ต.ค. 65 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate อยู่ที่ 1.5%, อัตราดอกเบี้ย Refinancing Operations Rate อยู่ที่ 2.0% และอัตราดอกเบี้ย Marginal Lending Facility Rate อยู่ที่ 2.25% และ Christine Lagarde ประธาน ECB กล่าวเสริมว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติอาหารและพลังงานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัว
- สำนักสถิติแห่งชาติของรัสเซีย (Rosstat) รายงาน ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในเดือน ก.ย. 65 เพิ่มขึ้น 0.16 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ รัสเซียผลิตคอนเดนเสทประมาณ 7-8 แสนบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- สำนักสถิติแห่งชาติจีนรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ +3.9% จากปีก่อนหน้า สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ +0.4% จากปีก่อนหน้า
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ต.ค. 65 ลดลง 2 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 610 แท่น