ภาพรวมตลาดรถยนต์เมืองไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทำยอดจำหน่าย 71,551 คัน ลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มรถยนต์นั่งยอดขายเพิ่ม ขณะที่ปิกอัพยอดขายหดตัว คาดเดือนมีนาคม นี้ ขยับตัวดีขึ้นจากการฟิ้นตัวของสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและตลาดท่องเที่ยวกลับมาสดใส
นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เติบโตลดลงด้วยยอดขาย 71,551 คัน ลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ตลาดรถยนต์นั่งยังเดินหน้าด้วยยอดขาย 24,867 คัน เติบโต 10.1% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 46,648 คัน ลดลง 10.0% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้จำนวน 33,635 คัน ลดลง 18.8% ทางด้านตัวเลขการขายสะสม 2 เดือน มีสถิติการขายลดลง 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขการขาย 137,130 คัน
ตลาดรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาณการขาย 71,551คัน เติบโตลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งยังเดินหน้าด้วยตัวเลขการขาย 24,867 คัน เติบโต 10.1% ส่วนตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีตัวเลขการขาย 46,648 คัน ลดลง 10.0% เป็นผลมาจากแนวโน้มความต้องการซื้อรถกระบะในภาคขนส่งเริ่มอิ่มตัวเมื่อเทียบกับความเคลื่อนไหวของตลาดในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ช่วงนี้หลายค่ายรถยนต์มีการเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ที่ดึงดูดความสนใจจากลูกค้า รวมทั้งความต้องการในการใช้ “รถยนต์ส่วนบุคคล” เพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทาง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของลูกค้า
ตลาดรถยนต์ในเดือนมีนาคมมีแนวโน้มขยับตัวดีขึ้น จากการฟิ้นตัวของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว ทำให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปิดตัวรถรุ่นใหม่หลายรุ่น โดยมีแคมเปญส่งเสริมการขาย “เงื่อนไขเดียวกับมอเตอร์โชว์” เพื่อปูทางไปสู่การขายในงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” ครั้งที่ 44 ช่วงปลายเดือนมีนาคม ภายใต้ข้อเสนอพิเศษสุดแห่งปี เป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยผลักดันอัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์อย่างมีนัยสำคัญ
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนกุมภาพันธ์ 2566
ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 71,551 คัน ลดลง 3.9%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 25,612 คัน เพิ่มขึ้น 2.5% ส่วนแบ่งตลาด 35.8%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 15,375 คัน ลดลง 23.9% ส่วนแบ่งตลาด 21.5%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 8,705 คัน เพิ่มขึ้น 22.8% ส่วนแบ่งตลาด 12.2%
ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 24,867คัน เพิ่มขึ้น 10.1%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 9,463 คัน เพิ่มขึ้น 55.4% ส่วนแบ่งตลาด 38.1%
อันดับที่ 2 ฮอนด้า 5,660 คัน เพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนแบ่งตลาด 22.8%
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 1,873 คั เพิ่มขึ้น 6.7% ส่วนแบ่งตลาด 7.5%
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 46,684 คัน ลดลง 10.0%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 16,149 คัน ลดลง14.6% ส่วนแบ่งตลาด 34.6%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 15,375 คัน ลดลง 23.9% ส่วนแบ่งตลาด 32.9%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 3,590 คัน เพิ่มขึ้น 73.8% ส่วนแบ่งตลาด 7.7%
ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*)
ปริมาณการขาย 33,635 คัน ลดลง 18.8%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 14,134 คัน ลดลง 24.4% ส่วนแบ่งตลาด 42.0%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 13,582 คัน ลดลง 18.8% ส่วนแบ่งตลาด 40.4%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 3,590 คัน เพิ่มขึ้น 73.8% ส่วนแบ่งตลาด 10.7%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 6,307 คัน
โตโยต้า 2,138 คัน – อีซูซุ 2,149 คัน – ฟอร์ด 1,448 คัน – มิตซูบิชิ 456 คัน – นิสสัน 116 คัน
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 27,328 คัน ลดลง 23.5%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 11,985 คัน ลดลง29.6% ส่วนแบ่งตลาด 43.9%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 11,444 คัน ลดลง 17.2% ส่วนแบ่งตลาด 41.9%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,142 คัน เพิ่มขึ้น 27.9% ส่วนแบ่งตลาด 7.8%