ครูว์ : เบนท์ลีย์ มอเตอร์ส ได้ติดตั้งหัวจ่ายเชื้อเพลิงชีวภาพขนาด 1.2 ลิตรสำหรับอัครยนตรกรรมรุ่นปัจจุบันและรถยนต์คลาสสิก ณ โรงงานในเมืองครูว์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้กว่า 85% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเบนซินแบบทั่วไป
ในงาน Goodwood Festival of Speed เบนท์ลีย์ มอเตอร์ส ได้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันพิชิตเนินเขากว่า 32 ครั้งด้วยอัครยนตรกรรม 6 คันที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยมี Bentley Batur กับเครื่องยนต์รุ่น W12 ที่มอบพละกำลังกว่า 750 แรงม้า ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 ทำเวลาในการแข่งขันได้ 55 วินาที ติดหนึ่งในสามอันดับแรก
ส่วนอัครยนตรกรรมเรือธงรุ่นใหม่ล่าสุด Bentayga EWB สามารถสร้างผลงานที่น่าพึงพอใจด้วยเวลาเพียง 1 นาที 21 วินาที พร้อมกับการลากกองฟางน้ำหนักกว่า 2.5 ตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในการเดินทางเป็นระยะทางกว่า 1,100 ไมล์หรือเทียบเท่ากับการเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์ทั้งหมดในงาน Goodwood Festival of Speed
สำหรับหัวจ่ายเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 ที่ติดตั้ง ณ โรงงงานเบนท์ลีย์ มอเตอร์ส เมืองครูว์ ประเทศอังกฤษนี้ได้เป็นไปตามมาตรฐานโลก EN228 สำหรับน้ำมันเบนซิน นั้นหมายความว่าเชื้อเพลิงชีวภาพสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงจากปั๊มทั่วไปได้โดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องยนต์แต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงรถยนต์คลาสสิกจากปี 1920 อย่างรุ่น EXP2 ที่เก่าแก่ที่สุด และยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์ทุกรุ่นที่ผลิตขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 เช่นเดียวกับการใช้น้ำมันเบนซินจากปั๊มทั่วไป ในขณะที่ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้อย่างมา
เชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 จะแตกต่างจากรุ่นแรก ที่ทำจากพืชไร่ที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูก เชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 ผลิตจากของเสีย รวมถึงของเสียจากการเกษตรและป่าไม้ และของเสียจากอุตสาหกรรมอาหาร โดยระหว่างกระบวนการผลิต ชีวมวลของเสียจะถูกย่อยสลายโดยใช้การหมัก นำไปสู่การสร้างเอทานอล หลังจากนั้น การคายน้ำของเอทานอลจะเปลี่ยนเป็นเอทิลีน สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำมันเบนซินได้ผ่านกระบวนการโอลิโกเมอไรเซชันหรือการผูกโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนแบบสั้นเข้าด้วยกันเพื่อผลิตโมเลกุลที่ยาวขึ้นและมีพลังงานหนาแน่นขึ้น
สำหรับเชื้อเพลิงที่ผลิตขึ้นเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียน 100% จะช่วยลดผลกระทบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 85% เมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซินแบบทั่วไป โดยเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นนี้จะช่วยลดปัญหาเรื่องเกี่ยวกับ ‘อาหารและเชื้อเพลิง’ ที่เกิดขึ้นจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นแรกได้ด้วยใช้วัสดุเหลือทิ้งและสามารถกำจัดได้