31.5 C
Bangkok
Saturday, December 14, 2024
รถ​ Mitsubishi
163732
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
Honda_900x192px 2024
previous arrow
next arrow

CEA ชู Soft Power ส่ง DNA ชาติไทย สู่เวทีโลก เร่งเครื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์

CEA เร่งเครื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชูกลยุทธ์ Soft Power ส่ง DNA ชาติไทย เฉิดฉายในตลาดโลก มุ่งสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ เดินหน้าพัฒนาพื้นที่และบุคลากร เพิ่มขีดความสามารถ เฟ้นหาตลาดเป้าหมาย สานพลังเชื่อมต่อโมเดล BCG ของรัฐบาล เผยอุตสาหกรรมคอนเทนต์ขึ้นแท่นดาวเด่น ด้านธุรกิจเกม-อีสปอร์ตยังสดใส พร้อมผนึกกำลังทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน Soft Power ไทยหนุนแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.ชาคริต  พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เปิดเผยว่า CEA ถือเป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ทั้ง 15 สาขา โดยปัจจุบัน CEA ได้เร่งเดินหน้าการผลักดันยุทธศาสตร์ “Soft Power” หลังรัฐบาลประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power ซึ่ง CEA เป็นคณะกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการชุดดังกล่าว พร้อมจับมือทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการหยิบเอาดีเอ็นเอของชาติมาเป็นวัตถุดิบสำคัญ และขยายความออกไปผ่านความสามารถของนักสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยมีสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้อย่างล้นเหลือ ด้วยทรัพยากรเชิงวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของประเทศ (5F) ได้แก่ อาหาร (Food) มวยไทย (Fighting) เทศกาล (Festival) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) และภาพยนตร์ (Film)  โดยเฟ้นหาสินทรัพย์ที่เป็นจุดแข็งและมีการรับรู้ในตลาดสากล เพื่อสร้าง “แบรนด์ประจำชาติ” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก  โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.5% ของ GDP ประเทศไทย และมีอัตราการจ้างงานสูงถึงกว่า 9 แสนคน มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2022 โดย Brand Finance ระบุว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก โดยได้ 40.2 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 38.7 คะแนนในปี 2021 ส่วนในเอเชีย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 รองจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งตัวชี้วัด Soft Power ที่ประเทศไทยได้คะแนนสูง จากตัวชี้วัดหลักทั้ง 7 ด้าน คือ ธุรกิจและการค้า (Business and Trade) วัฒนธรรมและมรดก (Culture and Heritage) รวมถึงผู้คนและค่านิยม (People and Values) สะท้อนจุดแข็งว่าประเทศไทยมีต้นทุนวัฒนธรรมที่ชัดเจน

CEA ยังคงเดินหน้าเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในฐานะผู้ขับเคลื่อน (Facilitator) กระบวนการ Soft Power ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านภารกิจการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แก่คนไทย เอื้อให้เกิดระบบนิเวศสร้างสรรค์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในระดับสากล ทั้งยังเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ให้เห็นมูลค่าของการส่งออก Soft Power ในภาพเดียวกัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมปรับตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระยะยาว ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาทักษะดิจิทัล การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ นอกจากนี้ ยังผลักดันกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมต่อกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ

“อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขาของไทยนั้น มีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสในการพัฒนา ซึ่ง CEA ได้จัดทำโร้ดแมปการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขาไว้ โดยเป็นการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรับฟังเสียงจากสมาคมวิชาชีพและนักสร้างสรรค์ เพื่อนำมุมมองและความต้องการของภาคธุรกิจมาขยายผลในการสร้างเครื่องมือและรูปแบบโครงการที่รองรับการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ CEA เล็งเห็นความสำคัญสำหรับการพัฒนาภาพรวมของทุกสาขาก็คือ การพัฒนา Thailand Content ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนา Soft Power ที่สำคัญ ให้มีความโดดเด่นและชัดเจนในการสื่อพลังนี้ออกไปผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ” ดร.ชาคริต กล่าว

ดร.ชาคริต กล่าวว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านพลัง Soft Power ในปี 2565 – 2566 คือ การนำ Soft Power ที่ไทยมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจและการค้า สร้างการยอมรับต่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ให้ความสำคัญกับบทบาทและความคิดเห็นของภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกด้านวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อสร้างการยอมรับในเวทีนานาชาติ

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ไทยมีต้นทุนและมีความพร้อมที่สุดในกลุ่ม 5F ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิง (ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ดนตรี) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (แฟชั่นและการออกแบบผลิตภัณฑ์) และกลุ่มอุตสาหกรรม Digital Content (เกม การ์ตูน แอปพลิเคชัน) โดยอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสามารถผลักดันออกสู่ตลาดได้ทันที ได้แก่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมดนตรีและ  อุตสาหกรรมละครและซีรีส์ โดยเฉพาะซีรีส์วาย ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 ตลาดคอนเทนต์ของละครวาย มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ ประเทศอาเซียนบวกสาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไต้หวันและฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและละตินอเมริกา ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูง ขณะที่อุตสาหกรรมดาวรุ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกม อุตสาหกรรมการ์ตูนและคาแรคเตอร์   ตลาดหลัก คือ กลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม อเมริกาเหนือ และยุโรป

ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาอีสปอร์ต (E-Sports) มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง CEA เล็งเห็นว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและการเติบโตสูง สอดรับกับความสนใจของคนรุ่นใหม่ และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสนับสนุน การสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมและแอนิเมชันให้เติบโตยิ่งขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดย CEA พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมการแข่งขันอีสปอร์ต บ่มเพาะแรงงานสร้างสรรค์ ให้มีความรู้ด้านการบริหารจัดการและการทำการตลาดสำหรับผู้ประกอบการเกม รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่องและต่อยอดจากเกมเติบโตขึ้น ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในภูมิภาคอาเซียน (Hub of E-Sports Leagues and Tournaments in ASEAN)

“สิ่งที่ CEA จะทำต่อไป คือการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการสร้าง Soft Power โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place) ภายใต้แนวทางยุทธศาสตร์ที่ CEA จะดำเนินต่อไป คือ

1.ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทุนวัฒนธรรมและเมืองสร้างสรรค์ (Empower cultural asset and creative city)

2.พัฒนาศักยภาพธุรกิจสร้างสรรค์และยกระดับทักษะสร้างสรรค์ของคนไทย (Build creative business competitiveness)

3.พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ภายใต้บริบทใหม่ เพื่อการแข่งขันในระดับสากล (Enter the global market)” ดร.ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

Stay Connected

0FansLike
3,912FollowersFollow
22,100SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles