31.3 C
Bangkok
Thursday, December 12, 2024
รถ​ Mitsubishi
163732
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
Honda_900x192px 2024
previous arrow
next arrow

จับตาเทรนด์ที่อยู่อาศัยวัยเก๋า บ้านแบบไหนตอบโจทย์ชาว Silver Gen

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) แล้ว ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเผยว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 20% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างชัดเจน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด (Super-Aged Society) ในปี 2572 เร็วขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2574

อย่างไรก็ดี การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องจับตามอง ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS คาดว่ามูลค่าตลาดกลุ่มผู้สูงอายุหรือ Silver Gen ของไทยจะสูงขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 4.4% มาอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาทใน ปี 2573 หรือเทียบเท่า 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย จึงทำให้เกิดเทรนด์ธุรกิจเพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายและมีความพร้อมทางการเงิน หลายธุรกิจรวมถึงตลาดที่อยู่อาศัยจึงปรับกลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่นี้

DDproperty Property Trends for The Elderly
Asian lovely family, young daughter look to old mother cook in kitchen. Beautiful female enjoy spend leisure time and hugging senior elderly mom bake croissant on table in house. Activity relationship

อัปเดตดีมานด์ผู้สูงวัย “เชียงใหม่” ครองใจเมืองพักผ่อนวัยเกษียณ 

ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยว่ากว่า 3 ใน 5 (62%) ของผู้บริโภคชาวไทยคิดเรื่องการวางแผนเกษียณบ่อยขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยใกล้เกษียณและผู้ที่มีรายได้ปานกลาง ในขณะที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่ผู้บริโภคต้องการไปใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุด (27%) ด้วยจุดเด่นจากสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดธรรมชาติและมีความเจริญในหลายด้าน ตามมาด้วยกรุงเทพฯ (15%), เชียงราย (12%), เพชรบูรณ์ (10%) และภูเก็ต (9%) ในขณะที่ 16% ยังไม่มีทำเลในใจ

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของชีวิตหลังเกษียณส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องการเงิน กว่า 2 ใน 3 (70%) หวังปลอดภาระหนี้ ตามมาด้วยมีอิสระทางการเงิน และมีเงินออมเพียงพอสำหรับค่ารักษาพยาบาล (ในสัดส่วนไล่เลี่ยกันที่ 63% และ 61% ตามลำดับ) สะท้อนให้เห็นว่าสภาพคล่องทางการเงินและการวางแผนค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตช่วงเกษียณมากที่สุด 

ผู้สูงวัย 48% มีเงินพร้อมซื้อบ้านใหม่ ข้อมูลจากแบบสอบถาม DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พบว่าเกือบครึ่ง (48%) มีเงินออมเพียงพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าผู้บริโภคในช่วงวัยอื่น ๆ ขณะที่อีก 42% เผยว่าเก็บเงินออมได้ครึ่งทางแล้ว ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงและน่าจับตามองในเวลานี้ ในขณะที่กว่า 1 ใน 3 (37%) มีการวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยเหตุผลสำคัญในการซื้อที่อยู่อาศัยมาจากต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น 45% ตามมาด้วยซื้อเพื่อการลงทุน และขายบ้านหลังเดิมได้ราคาดี (ในสัดส่วนเท่ากันที่ 32%)

โฟกัส “ขนาดบ้าน – ใกล้ขนส่งสาธารณะ” มาก่อน ปัจจัยภายในที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญในการตัดสินใจซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยมากที่สุด ได้แก่ ขนาดที่อยู่อาศัย 58% เน้นไปที่พื้นที่ใช้สอยที่เพียงพอในการรองรับกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยมาเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตร 49%, สิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัย 39%, การออกแบบและการก่อสร้าง 27% ส่วนมาตรการ/โครงการที่จะช่วยให้มีบ้านเป็นของตัวเองง่ายขึ้น และชื่อเสียงของผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ มีสัดส่วนเท่ากันที่ 23%

ขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการที่ผู้สูงอายุใช้พิจารณาเมื่อเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น มากกว่าครึ่ง (56%) ต้องการโครงการที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และลดความเสี่ยงในการขับขี่ด้วยตนเองเนื่องจากสภาพร่างกายอาจไม่พร้อม รองลงมาคือความปลอดภัยของทำเล 52%, ทำเลที่ตั้งโครงการ 43%, โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในย่านนั้น 31% ส่วนความเจริญของทำเล และใกล้โรงพยาบาล/สถานพยาบาล มีสัดส่วนเท่ากันที่ 26% เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการพบแพทย์หรือรับบริการทางสุขภาพต่าง ๆ

หวังรีโนเวท “ห้องนั่งเล่น” ตอบโจทย์การใช้ชีวิต สำหรับพื้นที่ในบ้านที่ผู้สูงอายุต้องการปรับเปลี่ยนมากที่สุดเพื่อรองรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณนั้น อันดับแรกคือห้องนั่งเล่น 23% ถือเป็นพื้นที่หลักที่ผู้สูงอายุใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากที่สุด จึงต้องการปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ตามไลฟ์สไตล์และกิจวัตรประจำวัน รองลงมากคือห้องนอนและห้องน้ำ (16% และ 12% ตามลำดับ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องปรับปรุงให้พร้อม มีความปลอดภัยและมั่นคงรองรับการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน

เคล็ด (ไม่) ลับเตรียมบ้านให้พร้อมรองรับวัยเกษียณ

“อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design” เป็นแนวคิดเรื่องการออกแบบสิ่งแวดล้อม การสร้างสถานที่ และสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ไม่ต้องมีการออกแบบดัดแปลงพิเศษเพื่อบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ คำนึงถึงการใช้งานที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน โดยไม่จำกัดอายุ เพศ หรือลักษณะทางร่างกาย

ส่งผลให้หลัก Universal Design เป็นเทรนด์การออกแบบที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการออกแบบที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถรองรับการอยู่อาศัยของผู้บริโภคทุกช่วงวัยได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

นอกจากการซื้อบ้านในโครงการที่มาพร้อม Universal Design แล้ว ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เผยแนวทางการออกแบบและปรับพื้นที่บ้านให้รองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงวัย ภายใต้หลักที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและปิดจุดบอดที่เป็นพื้นที่อันตราย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจด้วยตัวเอง โดยมี 5 พื้นที่สำคัญที่ควรปรับเพื่อรองรับบ้านผู้สูงอายุ ดังนี้

ห้องนั่งเล่น เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้เวลาในการทำกิจกรรมระหว่างวันไม่น้อย พื้นที่ในห้องนี้จึงควรออกแบบให้มีความปลอดโปร่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวกตลอดทั้งวัน จัดวางต้นไม้เพื่อเพิ่มความสดชื่นในห้อง หรือติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์และสะอาดตลอดทั้งวัน โดยควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีฟังก์ชั่นไม่ซับซ้อน สะดวกในการใช้งาน และมีขนาดที่เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไปจนเกะกะและทำให้ห้องดูอึดอัด ควรเน้นการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้ชิดผนังเพื่อให้มีพื้นที่โล่งมากที่สุด ไม่ควรมีของวางเกะกะตามพื้น เพื่อให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวกและป้องกันการสะดุดล้ม รวมทั้งรองรับการใช้งานรถเข็นได้สะดวก

นอกจากนี้ ควรจัดวางของใช้ประจำวัน งานอดิเรก รวมทั้งของใช้จำเป็นหรือยาไว้ที่โต๊ะ ชั้นวาง หรือตู้ที่มีความสูงเหมาะสมและอยู่ในระยะที่ผู้สูงอายุสามารถเอื้อมถึงเองได้ โดยที่ไม่ต้องก้มต่ำเกินไปเมื่อต้องการหยิบใช้งาน การจัดสรรพื้นที่ให้รองรับไลฟ์สไตล์ประจำวันจะช่วยให้ผู้สูงอายุทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น และเมื่อมีการพึ่งพาตนเองมากขึ้นก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองตามไปด้วย

ห้องนอน ส่วนสำคัญของบ้านที่ผู้สูงอายุใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อพักผ่อน โดยห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่างเพื่อลดการขึ้น-ลงบันได และอยู่ในบริเวณที่มีความสงบ มีความเป็นส่วนตัว และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยควรออกแบบให้ครอบคลุมการอยู่อาศัย เช่น

– ควรปูพื้นด้วยวัสดุลดแรงกระแทกและไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับ เพื่อป้องกันการสะดุดและหกล้ม

– เตียงนอนต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ปรับระดับความสูงได้ มีราวจับข้างเตียง ฟูกที่นอนไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป พร้อมพื้นที่บริเวณข้างเตียง 90-100 เซนติเมตร เพื่อรองรับการใช้งานรถเข็น หรือบุตรหลานสามารถเข้าไปช่วยดูแลได้

– ติดตั้งราวจับบริเวณที่มีการลุกนั่ง และมีไฟส่องสว่างอัจฉริยะที่สามารถเปิด-ปิดอัตโนมัติที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวเพื่อนำทางจากเตียงนอนไปกลับห้องน้ำ หรือเลือกใช้ไฟที่เปิด-ปิดได้ด้วยรีโมท

– มีโต๊ะข้างเตียงที่หยิบของได้สะดวก โดยเฟอร์นิเจอร์อย่างตู้เสื้อผ้าหรือชั้นวางของควรมีระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ไม่อยู่สูงจนเกินไปเมื่อต้องใช้งาน

– ไม่ควรมีธรณีประตูเพื่อป้องกันการสะดุด เลือกประตูแบบบานเลื่อนเปิด-ปิด ที่มีระบบรางแขวนด้านบนตัวล็อกที่ใช้งานง่าย ใช้แรงน้อย รองรับการเข้าออกของรถเข็นได้สะดวก

ห้องน้ำ เป็นอีกหนึ่งห้องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการลื่นล้มสูง นอกจากขนาดของห้องน้ำที่ควรกว้างอย่างน้อย 200 เซนติเมตร เพื่อรองรับการใช้รถเข็นแล้ว ควรมีการแบ่งพื้นที่โซนห้องน้ำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

– พื้นที่โซนแห้ง เลือกใช้อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนังที่สามารถรองรับน้ำหนักการเท้าแขนของผู้สูงอายุ หรือเลือกอ่างแบบฝังครึ่งเคาน์เตอร์เพื่อให้มีพื้นที่ใต้อ่างสะดวกต่อการใช้งานรถเข็น โดยก๊อกน้ำควรเป็นแบบก้านโยกหรือก้านปัด ส่วนโถสุขภัณฑ์ควรเป็นแบบนั่งราบ มีระดับความสูงที่เหมาะสม และติดตั้งราวจับบริเวณข้างโถสุขภัณฑ์เพื่อช่วยให้ลุกนั่งได้ง่าย

– พื้นที่โซนเปียก บริเวณที่นั่งอาบน้ำต้องมีความแข็งแรง ขนาดและความสูงเหมาะกับผู้สูงอายุ และติดตั้งราวจับเพื่อช่วยในการลุกนั่ง โดยฝักบัวควรติดตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของที่นั่ง เลือกใช้ฝักบัวที่ปรับระดับความสูงได้และเลือกใช้วาล์วเปิด-ปิดน้ำที่คุมอุณหภูมิได้ ที่สำคัญควรใช้กระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืดตั้งแต่ R10 ขึ้นไป หรือใช้น้ำยาทากันลื่นมาช่วยเคลือบหน้ากระเบื้องเพื่อป้องกันการลื่นล้มเมื่อพื้นเปียก

พื้นที่ขึ้นลงบันได หากห้องนอนผู้สูงอายุอยู่ชั้นบน หรือมีเหตุจำเป็นต้องขึ้นไปชั้นบนของบ้านอาจทำให้ปวดเข่าเวลาขึ้น-ลงบันได หรือมีโอกาสที่อาจจะสะดุดพลัดตกจากบันไดได้ ดังนั้น จึงควรปรับบันไดภายในและภายนอกบ้านให้มีความกว้างที่เหมาะสม ลูกตั้งบันไดสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างอย่างน้อย 30 เซนติเมตร

จมูกบันไดควรมีสีแตกต่างจากพื้นผิวของบันไดเพื่อให้สังเกตเห็นความแตกต่างของบันไดได้ชัดเจน ควรมีราวบันไดทั้ง 2 ข้างในระยะ 80 เซนติเมตรจากพื้น และมีแสงสว่างให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ติดตั้ง “ลิฟต์บันได” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุในการขึ้นลงชั้นบนโดยไม่ต้องเดินเอง

สวนและภูมิทัศน์รอบบ้าน อีกหนึ่งพื้นที่ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจ และทำสวนปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรกในยามว่าง จึงควรปรับพื้นที่ให้ร่มรื่น และเป็นระเบียบ

– ทางเข้าบ้านและบริเวณสวนควรทำให้เป็นพื้นทางเดินเรียบ ไม่ขรุขระ และไม่ปูพื้นทางเดินด้วยหินที่อาจทำให้เสียการทรงตัวและมีโอกาสลื่นได้ หากพื้นที่สวนมีบริเวณกว้าง ควรมีที่นั่งสำหรับชมธรรมชาติเป็นระยะ โดยที่นั่งพักควรมีราวจับหรือเท้าแขน เพื่อช่วยในการพยุงตัวลุกได้สะดวก

– ในกรณีที่มีทางลาดเข้าบ้าน ควรมีความชันไม่เกิน 1:12 มีพื้นที่ว่างหน้าทางลาดไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร มีขอบกั้นและราวจับตลอดแนวทางลาด ใช้วัสดุพื้นผิวไม่ลื่น หรือติดเทปกันลื่นเพิ่มเพื่อช่วยให้รองเท้าสามารถยึดเกาะพื้นได้ดีขึ้น สำหรับความกว้างทางเดินควรกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตรเพื่อรองรับการใช้รถเข็น

– หากผู้สูงอายุชอบการทำสวน ควรเลือกการปลูกในกระบะที่ระยะความสูงประมาณ 60-80 เซนติเมตร หรือปลูกต้นไม้แบบสวนแนวตั้ง เพื่อลดการก้มเงยหรือลุกนั่งบ่อย ๆ ที่อาจจะทำให้ปวดหลัง หรือก่อให้เกิดอาการหน้ามืดและหกล้มได้

เพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัยด้วย “Reverse mortgage”

อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุยังคงมีความท้าทายเมื่อยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเช่นกัน โดยพบว่าอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อบ้านมาจากรายได้และอาชีพที่ไม่มั่นคง 75% เนื่องจากอาจจะไม่ได้ทำงานประจำที่มีรายได้แน่นอนแล้ว ตามมาด้วยมีเงินดาวน์ไม่พอ 63% และขาดเอกสารประกอบในการยื่นกู้ 38% ด้วยเหตุนี้ “Reverse Mortgage หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการช่วยให้ผู้สูงวัยมีโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น รูปแบบการจำนองจะเหมือนการทยอยขายบ้านให้กับธนาคาร โดยผู้สูงวัยยังคงมีที่อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิตและได้รับรายได้แบบรายเดือน

โดยผู้สูงอายุสัญชาติไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 ปี สามารถนำบ้าน/คอนโดฯ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์อยู่มาจำนองไว้กับธนาคาร จากนั้นธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้และทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้ผู้กู้เป็นรายเดือน ตัดปัญหาค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ โดยที่ผู้กู้ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นและสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกระทั่งเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว บ้าน/คอนโดฯ นั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ซึ่งธนาคารสามารถนำไปขายทอดตลาดได้

Reverse Mortgage นับว่าเป็นอีกทางเลือกน่าสนใจที่ช่วยลดความกังวลของผู้สูงอายุที่ต้องการมีบ้านเพื่ออยู่อาศัยในวัยเกษียณ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าครองชีพในอนาคต ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย อย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (www.ddproperty.com) ได้รวบรวมข่าวสารและบทความน่ารู้ในแวดวงอสังหาฯ ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทุกช่วงวัยที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ มาพร้อมข้อมูลประกาศซื้อ/ขาย/ให้เช่า รวมทั้งรีวิวโครงการอสังหาฯ ที่น่าสนใจในหลากหลายทำเลทั่วประเทศ ช่วยให้ทุกคนเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

*อ้างอิงข้อมูลจาก SimilarWeb ช่วงระหว่างเดือน ก.ค. – ธ.ค. 2566

Related Articles

Stay Connected

0FansLike
3,912FollowersFollow
22,100SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles