ปตท. เผยผลวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18-22 ต.ค.64 และแนวโน้ม 25-29 ต.ค.64 โดยตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเบรนท์ (ICE Brent) ราคา 85.07เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +1.25 ตลาดน้ำมันสำเร็จรูป เวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ราคา 83.02 เหรียญ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +1.98 เหรียญ สหรัฐฯ ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปดูไบ (Dubai) ราคา 83.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +0.87 เหรียญ สหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปซื้อซื้อขายล่วงหน้าประเทศสิงคโปร์ ราคาเบนซินออกเทน 95 ปรับราคาเพิ่มขึ้น +4.19 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 101.86 เหรียญ สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดีเซลราคาปรับราคาเพิ่มขึ้น +0.74 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 97.45 เหรียญสหรัฐฯ
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลก เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดย ICE Brent มีการซื้อขายระหว่างวันทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ NYMEX WTI สูงสุดในรอบ 7 ปี และมีแนวโน้มทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงานในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ จีน ยุโรป และอินเดีย สนับสนุนราคาน้ำมัน โดยภาครัฐได้พยายามแก้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงานที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะรัฐบาลจีน เมื่อ 20 ต.ค.64 คณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission: NDRC) สั่งการให้เหมืองถ่านหินในจีนผลิตถ่านหินเต็มกำลังการผลิตที่ 12 ล้านตันต่อวัน เพื่อป้อนแก่โรงไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ และบรรเทาความร้อนแรงของราคาถ่านหิน ส่งผลให้ราคาถ่านหินที่ตลาด Zhengzhou Commodity Exchange ณ 21 ต.ค.64 ลดลง 14% จากราคาสูงสุดอยู่ที่ 1,365 หยวนต่อตัน หรือ 213 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน
ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 84-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีโอกาสที่ ICE Brent จะขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญ คือ 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายในปีนี้
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 15 ต.ค.64 ลดลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 426.5 ล้านบาร์เรล และปริมาณสำรองที่ Cushing รัฐ Oklahoma เป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI ลดลง 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 31.2 ล้านบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics of China: NBS) รายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน ก.ย.64 ลดลง 2.6% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 13.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน หลังจีนออกมาตรการควบคุมอุปทานพลังงานโดยการปันส่วนในภาคอุตสาหกรรมและพยายามรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ