28.8 C
Bangkok
Sunday, December 15, 2024
รถ​ Mitsubishi
163732
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
Honda_900x192px 2024
previous arrow
next arrow

แสนสิริ ออกหุ้นกู้ 100 ล้าน ผุดพันธกิจใหญ่ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

แสนสิริ ประกาศพันธกิจใหญ่ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท สนับสนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  รวมพลังคนไทยเปลี่ยนการศึกษาไทย ครั้งแรกของเอเชีย! พลิกการเปลี่ยนแปลงประเทศ เด็กหลุดระบบการศึกษาต้องเป็น “ศูนย์”

นายเศรษฐา  ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจของแสนสิริที่มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคม คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก และให้ความสำคัญในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม รวมถึงเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเด็กอย่างยั่งยืน จนได้รับเกียรติเป็นพันธมิตรที่ลงนามกับองค์การยูนิเซฟ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กต่อเนื่องในตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยร่วมกันผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครอง ปกป้องสิทธิ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กมากกว่า 17 โครงการ อาทิ แคมเปญ “IODINE PLEASE” ผลักดันการแก้ปัญหาภาวะขาดสารไอโอดีนในเด็ก เป็นปัญหาระดับประเทศมานานกว่า 50 ปีได้สำเร็จ, โครงการ Best Start หกปีแรกของชีวิต คือ หกปีทองของเด็ก ที่ต่อยอดสู่โครงการ “The Good Space” หรือ “พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างของแสนสิริ รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่มุ่งเน้นในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ สร้างความตระหนักในด้านสิทธิเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และกีฬา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลืออย่างไร้พรมแดนต่อเด็กในประเทศไทยและเด็กทั่วโลก

ปี 2565 แสนสิริมีพันธกิจใหญ่ โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ภายใต้วิสัยทัศน์และเป้าหมายเดียวกัน ในความตั้งใจที่จะ “สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ด้วยการประกาศพันธกิจในโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ระยะยาว 3 ปี โดยแสนสิริเตรียมออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน 100 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการ Zero Dropout ครั้งแรกในเอเชีย! นำร่องที่จังหวัดราชบุรี ที่มีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาอยู่ประมาณ 10,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับจำนวนเงินระดมทุน 100 ล้านบาท รวมทั้งยังมีปัญหาที่หลากหลายด้านความเหลื่อมล้ำในการศึกษาจากภูมิศาสตร์จังหวัดติดชายแดน ที่มีสภาพทั้งแบบชุมชนและเมือง ขณะที่ยังเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ที่ทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมช่วยเหลือเด็กได้โดยง่าย รวมถึงที่สำคัญคือ แสนสิริไม่มีการพัฒนาโครงการและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีความโปร่งใส นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบได้ ผ่านบัญชี Escrow Account ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในชื่อ “บมจ.แสนสิริ เพื่อสนับสนุนโครงการร่วมกับ กสศ.” ซึ่ง กสศ. จะมีการจัดทำแผนรายปี และเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการ Zero Dropout ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง

เป้าหมายโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” คือการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ระยะยาว 3 ปี ครอบคลุมการพัฒนาในทุกด้านทั้งการเข้าถึง คุณภาพการศึกษา และความยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าให้เด็กต้องอยู่ในระบบการศึกษาในช่วงวัยภาคบังคับ (ป.1-ม.3) และเด็กที่ถึงเกณฑ์ ต้องพร้อมเข้าเรียน ป.1 ได้ 100% โดยมีแผนดำเนินการเริ่มตั้งแต่ปี 2565 นำร่องใน 3 อำเภอ ได้แก่ สวนผึ้ง จอมบึง และบ้านคา จากนั้นในปี 2566 จะขยายไปอีก 4 อำเภอ และในปี 2567 อีก 3 อำเภอ เพื่อช่วยเหลือทั้งเด็กปฐมวัย และเด็กนอกระบบกว่า 11,200 คนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในจังหวัดราชบุรีให้เป็น “ศูนย์” รวมทั้งสนับสนุนทุนทรัพย์ให้เด็กได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าระบบการศึกษา (อัตรา 4,000 บาทต่อคน) จากนั้นจึงส่งต่อสู่กลไกของจังหวัดสานต่อการทำงานในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป

“แสนสิริต้องการจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยเปิดตัวโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” และออกหุ้นกู้ระดมทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับใช้ในโครงการ สร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกในเอเชีย! ที่มีการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนในการช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยนับว่า ครั้งนี้เป็นการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์ถึง 2 ต่อ คือ นอกจากนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ที่สำคัญกว่านั้น คือ นักลงทุนจะได้ลงทุนในอนาคตเด็กเพื่อให้ได้อยู่ในระบบการศึกษา สร้างรากฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. เป็น “กลไกเหนี่ยวนำความร่วมมือ” ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยมีโอกาสที่เสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและได้รับการพัฒนาตามศักยภาพเพื่อตัดวงจรความยากจนข้ามชั่วคน การทำงานของ กสศ.เจาะกลุ่มเด็ก เยาวชนจากครัวเรือนยากลำบากร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเป็น “คานงัด” และ “ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง” เชิงระบบ โดยใช้ข้อมูล งานวิจัย และกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นเครื่องมือสำคัญในการ  สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ และระดับประเทศที่ยั่งยืน

“ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ประเทศไทยมีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจครัวเรือนและความห่างไกลทุรกันดารของหลายพื้นที่ รวมทั้งปัจจัยด้านสุขภาพและความด้อยโอกาสอื่นๆ ของเด็กเยาวชนและครอบครัว แต่สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงโควิด – 19 จากสาเหตุของการว่างงานและรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการปิดกิจการและการเลิกจ้างชั่วคราวหรือถาวร รวมทั้งการขาดการเข้าถึงไฟฟ้า สัญญาณอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเรียนออนไลน์ที่ต่อเนื่องและมีคุณภาพ ซึ่งล้วนส่งผลต่อแนวโน้มและความเสี่ยงของการหลุดออกจากระบบการศึกษา และภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาของไทย”

จากการสำรวจข้อมูลโดยการสำรวจของกสศ. พบว่า สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน มีตัวเลขนักเรียนยากจนทั่วประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาถึง 1.9 ล้านคน มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก สังเกตได้จากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดต่ำลงมากจาก 1,289 บาทช่วงก่อนโควิด มาเป็น 1,094 บาทต่อครัวเรือนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกเทอมจาก 994,428 คนเมื่อปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,244,591 คนในภาคเรียนที่ 1 ปี 2564 และเมื่อลงลึกเรื่องตัวเลข ยังพบว่า นักเรียนที่ไม่เรียนต่อ หรือ นักเรียนยากจนพิเศษ หลุดจากการศึกษาสูงถึง 43,060 คน จาก 54,842 คน  หรือ 4.67%  โดยหลุดจากระบบการศึกษาสูงสุดในชั้น ม.3/ ป.6/ และชั้นอนุบาล ตามลำดับ

ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไทย เกิดจากอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน อาทิ ต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัว, ขาดแคลนของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันและอุปกรณ์การเรียน, ไม่มีค่าเดินทาง, ไม่มีค่าอาหาร และบ้านห่างไกล ทุรกันดาร ขณะที่เมื่อลงลึกถึงตัวเลขสถิติ เหตุผลของการหลุดจากการศึกษาของเด็กยากจนพิเศษในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 อันดับหนึ่ง คือ รายได้ของครอบครัวลดลง คิดเป็นจำนวน 87.81% ของเด็กที่หลุดการศึกษา อันดับสอง คือ ต้องแบกรับภาระอื่นและแบ่งเบาภาระทงเศรษฐกิจแก่ญาติพี่น้อง 38.33% และต่อมา คือ พ่อแม่ ผู้ปกครองตกงาน และถูกพักงานชั่วคราว เป็นที่มาที่คำว่า “ช่วยแม่ทำงาน” “รายได้ลดลง” “ขายของไม่ได้” ถูกขึ้นมาเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญจากการสำรวจแบบ focus group ของ กสศ. จากกลุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้ กสศ. ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลของนักเรียนทุนเสมอภาคในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ประสบปัญหาในการเรียนช่วงโควิด พบว่ามีนักเรียนที่เจอปัญหาในการเรียนออนไลน์ถึง 271,888 คน ทั้งจากการที่ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งไม่มีไฟฟ้า โดยความช่วยเหลือที่นักเรียนและผู้ปกครองต้องการได้รับ 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าครองชีพและของจำเป็น 71.45% รองลงมาเป็นอาหารเช้า/อาหารกลางวัน 35.28% และค่าเดินทาง 28.79% ที่สำคัญที่สุดยังพบว่า เด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจน และยากจนพิเศษ ส่วนใหญ่หลุดออกจากระบบการศึกษา ก่อนที่จะมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนปลาย/เทียบเท่า โดยไม่ได้เข้าเรียนปริญญาตรีสูงถึง 94.7% ซึ่งกสศ. และแสนสิริ คาดหวังถึงอนาคตของเด็ก และอนาคตของประเทศที่ต้องเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

                                “กสศ. มีความยินดีที่แสนสิริเล็งเห็นถึงความสำคัญและเข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งแผนการสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยผลักดันโครงการที่ กสศ. และ หน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ร่วมกันสนับสนุนมาตรการทั้งต่อตัวเด็กเยาวชนและสถานศึกษาโดยตรง และมาตรการการส่งเสริมการรับรู้เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยกลไกการจัดการเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) นับเป็นนวัตกรรมความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงระบบและการแก้ปัญหายั่งยืน จะเป็นตัวแบบของประเทศสามารถต่อยอดขยายผลได้ในอนาคต  ที่สำคัญคือการสร้างช่องทางให้ทุกคนสามารถเป็นหนึ่งในการช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค สำหรับราชบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีต้นทุนการทำงานปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกับกสศ.  มีฝ่ายนโยบายที่ให้ความสำคัญ  มีตัวแบบสถานศึกษา หน่วยจัดการศึกษาทางเลือก  บุคลากร อาสาสมัคร ที่สามารถขยายผลการทำงานได้ทันที” ดร.ไกรยส กล่าว

สำหรับหุ้นกู้แสนสิริที่จะเสนอขายในครั้งนี้มีมูลค่าเสนอขายไม่เกิน 100 ล้านบาท อายุ 3 ปี อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ BBB+ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปบริจาคให้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้โครงการ Zero Dropout ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ให้คนไทยสามารถร่วมสร้างประวัติศาสตร์เพื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ไปด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุน 3.20% ต่อปี รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้  แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตเด็ก ให้เด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่มีใครหลุดจากระบบการศึกษาและโดนทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเงิน 100 ล้านบาทจากการระดมทุนจะบริจาคให้ กสศ. ทั้งหมด เพื่อปั้น “ราชบุรีโมเดล” เป็นเมืองต้นแบบให้เด็กใน จ.ราชบุรี หลุดจากระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปีให้ได้ กำหนดเปิดจองซื้อ วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 8.30 น. ผ่าน SCB Easy App เท่านั้น ข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ Zero Dropout https://blog.sansiri.com/zero-dropout-main/ หรือโทร 1685.

“เงิน 100 ล้านบาท ที่ได้จากการระดมทุนอาจไม่สามารถช่วยเหลือเด็กทั้งประเทศได้ แต่จะนับเป็นการจุดประกายในการสร้างความหวังให้เกิดการลงมือทำ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของเราในครั้งนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้ภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ หันมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ และเมื่อถึงวันนั้นความหวังที่เด็กทั้งประเทศจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ คงเป็นอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก” นายเศรษฐา กล่าวสรุป

Related Articles

Stay Connected

0FansLike
3,912FollowersFollow
22,100SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles