ตลาดรถยนต์เดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวลดลง 64,462 คัน ลดลง 13% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ตลอดระยะเวลา 10 ของปี มียอดขายสะสมแล้ว ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 596,393 คัน ลดลง 2.1% คาดการณ์แนวโน้มตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2564 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น และมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม 2564 ชะลอตัวต่อเนื่องทุกเซ็กเมนท์ มียอดขายรวมทั้งสิ้น 64,462 คัน ลดลง 13%แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 19,950 คัน ลดลง 11.2% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 44,512 คัน ลดลง 13.8% ขณะที่ รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 35,352 คัน ลดลง 13.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว
ตลาดรถยนต์เดือนตุลาคม 2564 มีปริมาณการขาย 64,462 คัน ลดลง 13% โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 11.2% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 13.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากความวิตกกังวลต่อภาวะการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งสภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนความสามารถในการซื้อรถใหม่ของลูกค้า
ตลาดรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น และมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ตลอดจนการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยเริ่มทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คาดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศจะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ตลาดรถยนต์จะดีขึ้นไปจนถึงสิ้นปีที่จะมีการจัดงาน อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์ เอ็กซ์โป ซึ่งหลายค่ายรถยนต์ต่างนำเสนอแคมเปญส่งเสริมการขาย “เงื่อนไขเดียวกับ มอเตอร์ เอ็กซ์โป” ในช่วงปิดตัวเลขการขายประจำปีด้วยเช่นกัน
ขณะที่ยอดขายสะสมของตลาดรถยนต์เมืองไทย ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา (มกราคมขตุลาคม 2564) มีปริมาณยอดจำหน่ายสะสมทั้งสิ้น 596,393 คัน ลดลง 2.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนตุลาคม 2564 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว
1.ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 64,462 คัน ลดลง 13%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 22,845 คัน ลดลง 11.1% ส่วนแบ่งตลาด 35.4%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 15,411 คัน ลดลง 10.3% ส่วนแบ่งตลาด 23.9%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 7,183 คัน ลดลง 20% ส่วนแบ่งตลาด 11.1%
2.ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 19,950 คัน ลดลง 11.2%
อันดับที่ 1 ฮอนด้า 6,655 คัน ลดลง 8.0% ส่วนแบ่งตลาด 33.4%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 5,651 คัน ลดลง 9.5% ส่วนแบ่งตลาด 28.3%
อันดับที่ 3 ซูซูกิ 1,780 คัน ลดลง 11.4% ส่วนแบ่งตลาด 8.9%
3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 44,512 คัน ลดลง 13.8%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 17,194 คัน ลดลง 11.7% ส่วนแบ่งตลาด 38.6%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 15,411 คัน ลดลง 10.3% ส่วนแบ่งตลาด 34.6%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด2,823 คัน เพิ่มขึ้น 6.5% ส่วนแบ่งตลาด 6.3%
4. ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*)
ปริมาณการขาย 35,352 คัน ลดลง 13.4%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 14,918 คัน ลดลง 10.3% ส่วนแบ่งตลาด 42.2%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 14,002 คัน ลดลง 12.5% ส่วนแบ่งตลาด 39.6%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,823 คัน เพิ่มขึ้น 6.5% ส่วนแบ่งตลาด 8.0%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 4,174 คัน
โตโยต้า 2,079 คัน – อีซูซุ 889 คัน–มิตซูบิชิ 564 คัน–ฟอร์ด 492 คัน–นิสสัน 150 คัน
5.ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 31,178 คัน ลดลง 15.1%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 13,113 คัน ลดลง 17.7% ส่วนแบ่งตลาด 42.1%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 12,839 คัน ลดลง 7.2% ส่วนแบ่งตลาด 41.2%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 2,331 คัน เพิ่มขึ้น 6.1% ส่วนแบ่งตลาด 7.5%