22.9 C
Bangkok
Sunday, January 5, 2025
musubishi900x192px_2024
Honda_900x192px 2024
163732
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
Mitsubishi_900x192px_2
previous arrow
next arrow

โตโยต้าและเมืองพัทยาร่วมลงนามความร่วมมือ “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ”

โตโยต้าและเมืองพัทยาร่วมลงนามความร่วมมือ “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ” ยกระดับการเดินทางและระบบขนส่งสาธารณะในเมืองพัทยาโดยใช้รถยนต์พลังงานสะอาด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน

นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา และนายเรวัฒน์ เซี่ยงฉิน ประธานกรรมการ สหกรณ์เดินรถพัทยา จำกัด ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ” ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีวิสัยทัศน์ในการยกระดับการดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คนและความยั่งยืนของสังคม โดยหนึ่งพันธกิจที่สำคัญ คือ การบรรลุเป้าหมายการสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) โดย การเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multiple Pathway” ว่าด้วยการมุ่งมั่นในการเฟ้นหาทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน นำมาสู่การคิดค้นนำเสนอนวัตกรรมยานยนต์รูปแบบใหม่ ๆ ทั้งการวิจัยพัฒนาระบบขับเคลื่อนต่าง ๆ ที่มีคุณลักษณะแตกต่างกัน รองรับการใช้งานพลังงานได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เป็นทางเลือกในการเดินทางของผู้คนด้วยยานยนต์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม สามารถใช้งานได้จริงและความเหมาะสมของโครงสร้างพื้นฐานแต่ละพื้นที่

ในการนี้ โตโยต้าได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อร่วมศึกษาในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นทั้งหลาย ตลอดจนความเข้าใจถึงข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ของผู้คน พฤติกรรมการใช้งาน ภายใต้สภาพแวดล้อมจริงในประเทศไทย และเริ่มโครงการทดลองเพื่อศึกษาวิจัยข้อมูลดังกล่าว ภายใต้ “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะ” ณ เมืองพัทยา ตั้งแต่ปี 2563 โดยร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ อาทิ องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน ตลอดจนภาครัฐและผู้ประกอบการในจังหวัดชลบุรี ร่วมจัดสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ที่ทางโตโยต้าจัดเตรียมไว้ให้ผู้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยาได้ทดลองใช้งานในการเดินทางรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV), รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) รวมไปถึงความร่วมมือในโครงการเปิดสถานีไฮโดรเจนแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ที่โตโยต้านำมาสาธิตการใช้งานในรูปแบบของรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในพื้นที่พัทยา – ชลบุรี

ณ ปัจจุบัน ได้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยาให้ความสนใจใช้บริการรถยนต์พลังงานทางเลือกของโตโยต้าที่ส่งรถเข้าร่วมโครงการฯไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 2,278 ครั้ง รวมเป็นระยะทางกว่า 163,907 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในเมืองพัทยาตลอดทั้งโครงการ จนถึงปี 2568 อยู่ที่ 2,209 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 232,526 ต้น)

สำหรับพิธีลงนามในครั้งนี้ เป็นการตกลงความร่วมมือระหว่างเมืองพัทยา และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยมีการยกระดับแผนพัฒนาเพื่อสนับสนุนการให้บริการขนส่งสาธารณะด้วยรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และสนับสนุนการใช้บริการรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมเมืองพัทยา ทั้งในเชิงจำนวนและพื้นที่

                ทั้งนี้ โตโยต้าจึงได้ร่วมมือกับเมืองพัทยา และ สหกรณ์เดินรถพัทยา ในการวางแผนที่จะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้นแบบมาทดลองใช้ภายในโครงการฯ โดยการนำรถกระบะโตโยต้า รุ่น Hilux REVO BEV เป็นรถกระบะพลังงานไฟฟ้า 100% มาทดลองให้บริการในรูปแบบรถโดยสารประจำทางสาธารณะแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา โดยคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ภายในปี 2567 และถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาทดลองให้บริการเป็นรถขนส่งสาธารณะเพื่อพัฒนาไปสู่การใช้งานจริง และวางรากฐานในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาให้มีความทันสมัย และปราศจากมลภาวะ

โตโยต้ามีความคาดหวังว่าผลสำเร็จที่ได้รับจากโครงการความร่วมมือนี้ จะสามารถขยายผลเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมทั้งสามารถต่อยอดโครงการไปยังภูมิภาคอื่นๆต่อไป ในการนำผลการศึกษาไปแบ่งปันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางรากฐานระบบคมนาคมในยุคหน้า ตลอดจนเป็นแนวทางให้โตโยต้าสามารถนำเสนอทางเลือกในการเดินทางที่เหมาะสม ส่งเสริมให้ยานยนต์ที่มีส่วนในการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย และสามารถเติมเต็มพันธกิจในการบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในระยะยาวต่อไป

Related Articles

Stay Connected

0FansLike
3,912FollowersFollow
22,200SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles