27.4 C
Bangkok
Thursday, December 19, 2024
musubishi900x192px_2024
Honda_900x192px 2024
163732
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
Mitsubishi_900x192px_2
previous arrow
next arrow

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อปวงชน

ในยุคที่โรคภัยไข้เจ็บเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและชีวิตของผู้คน วิทยาการการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ความสามารถในการเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยกลับเป็นสิ่งที่จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนที่มีฐานะ ส่วนผู้ที่ยากจนและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมักจะถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพที่ลำบากและขาดแคลนการดูแลทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม โลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยพลังแห่งความเมตตาและการช่วยเหลือจากหน่วยงานใจบุญที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้ องค์กรการกุศลต่างๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการจัดตั้งโครงการที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน การสร้างระบบบริการสุขภาพให้กับชุมชนที่ห่างไกล และการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยให้กับโรงพยาบาลท้องถิ่น

การพัฒนาเหล่านี้ทำให้วิทยาการที่ก้าวหน้าล้ำสมัยสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงแต่ในเมืองใหญ่แต่ยังครอบคลุมไปถึงชุมชนที่เคยถูกมองข้าม ชีวิตของผู้คนได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นจากการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมีฐานะใดก็ตาม

ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแค่เป็นการพัฒนาด้านการแพทย์เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมและการดูแลเอาใจใส่ต่อมนุษยชาติ ซึ่งทำให้เราทุกคนมีความหวังและความเชื่อมั่นในอนาคตที่ดีขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ได้แถลงเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ภายใต้แนวคิด สืบสาน–รักษา-ต่อยอด พระราชปณิธาน สร้างสรรค์นวัตกรรมบริการสุขภาพราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อปวงชน โดยจัดทำโครงการเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม ด้วยวิทยาการขั้นสูง นวัตกรรมและความเป็นเลิศ ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นพลังของแผ่นดินในการขับเคลื่อนการวิจัยสร้างองค์ความรู้ สร้างบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลน สร้างนวัตกรรมบริการสุขภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติสืบไป ภายใต้ปรัชญา เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต

โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เปิดตัว ๕ นวัตกรรมสุขภาพเพื่อให้บริการแก่ประชาชน ประกอบด้วย

โครงการที่ ๑ โครงการประเมินสภาพปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งเสริมการนำนวัตกรรมบริการสุขภาพมาใช้ในการประเมินสุขภาพปอดของคนไทยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศของฝุ่นละอองจิ๋ว PM ๒.๕ ซึ่งนวัตกรรมรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์คันนี้เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบโดยคนไทยในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ภายในรถมีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงแบบใช้ปริมาณรังสีต่ำพร้อมด้วยระบบการจัดท่าและการสแกนอัตโนมัติ วินิจฉัยรอยโรคร่วมกับระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พร้อมระบบความปลอดภัยสูงสุดจากการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโรคด้วยระบบกรองอากาศความเร็วสูงและแสงยูวี ๒๒๒ นาโนเมตร จึงเหมาะในการนำมาใช้คัดกรองรอยโรคในปอด โดยโรงเรียนรังสีเทคนิค คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อดูแลสุขภาพปอดของคนไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศสูงของฝุ่นละอองจิ๋ว PM ๒.๕ โดยจะให้บริการในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน ๗๒๐ ราย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคสภาวะปอดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กลุ่มเป้าหมายที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ฯ จะต้องอยู่ในช่วงอายุ ๒๐ – ๖๐ ปี มีพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่ทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร หรือ ปริมณฑล ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือ มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคมะเร็งปอด วัณโรคปอด โรคปอดอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ไม่มีประวัติการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ที่ลงปอด ไม่เคยมีประวัติการผ่าตัดนำเนื้อปอดออก (Lobectomy, Pneumonectomy) โดยนอกจากจะช่วยให้ประชาชนในโครงการได้รับการประเมินสภาพปอดจากภัยสุขภาพฝุ่นจิ๋วแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อยอดสู่การขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายทางด้านการจัดการมลพิษของประเทศชาติต่อไป

โครงการที่ ๒ โครงการวินิจฉัยและอ่านผลการตรวจอัลตราซาวด์ให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมระบบบริการสุขภาพทางไกลและพัฒนาบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลนให้มีความรู้เชี่ยวชาญเพื่อสามารถให้บริการตรวจและวินิจฉัยผลอัลตราซาวด์แก่ผู้ป่วยในท้องถิ่นห่างไกล โดยโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ตั้งเป้าหมายในการให้บริการวินิจฉัยและอ่านผลผู้ป่วยในโครงการ จำนวน ๑,๗๒๐ ราย โดยได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำทีมลงพื้นที่ไปร่วมอบรมสอนการปฏิบัติงานจริงในการทำอัลตราซาวด์ พร้อมทั้งวางระบบสุขภาพทางไกลสำหรับการวินิจฉัยและอ่านผลการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อให้โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถทำการตรวจอัลตราซาวด์ได้ด้วยตนเอง และนำส่งภาพผ่านระบบคลาวด์เพื่อให้อาจารย์แพทย์ของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ร่วมวินิจฉัยและอ่านผลการตรวจอัลตราซาวด์ให้กับผู้ป่วยในท้องถิ่นห่างไกล ช่วยลดระยะเวลาการรอคอย และสามารถทำการรักษาได้ทันท่วงทีหากตรวจพบอาการผิดปกติ ซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้านทางอัลตราซาวด์ทางการแพทย์แล้ว ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งถ่ายทอดและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ

โครงการที่ ๓ โครงการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมด้วยนวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ (3D-ABUS) และแมมโมแกรม ส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชนด้านการป้องกันโรคมะเร็ง ด้วยมะเร็งเต้านม เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของสตรีทั่วโลก การควบคุมและป้องกันมะเร็งเต้านม คือ การรณรงค์ให้สตรีได้เข้ารับการตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งจะช่วยทำให้การรักษาได้ผลดี เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูงขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังพบว่ามีสตรีอีกเป็นจำนวนมากที่รอคิวหรือไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้เล็งเห็นความจำเป็นในการออกแบบพัฒนาระบบบริการสุขภาพเคลื่อนที่สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีไทยโดยนำนวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ (3D-ABUS) และแมมโมแกรม พร้อมด้วยระบบรายงานผลดิจิทัล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ร่วมวินิจฉัยกับรังสีแพทย์ ซึ่งเป็นผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพจากบุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ นำมาใช้ในการออกหน่วยลงพื้นที่สู่ชุมชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนเหนือทั้งหมด ๗ เขต จังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี จำนวน ๗๒๐ ราย โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้กับประเทศไทยและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในพื้นที่ห่างไกลต่อไป

โครงการที่ ๔ โครงการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากอันดับ ๑ ของประเทศไทย โดยมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งท่อน้ำดีตับมีสาเหตุหลักจากพยาธิใบไม้ตับพบมากทางภาคอิสาน และ มะเร็งของเซลล์ตับ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดในการเกิดมะเร็งของเซลล์ตับในคนไทย คือ การเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้ากำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้จัดทำโครงการบริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยของไวรัสตับอักเสบและให้บริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี จำนวน ๗๒๐ ราย ในวันที่ ๒๕-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองที่สะดวก รวดเร็ว รู้ผลทันที เพื่อป้องกันตนเองและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคตต่อไป

โครงการที่ ๕ โครงการพยาบาลศาสตร์อาสาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เรื่อง การเสริมสร้างสุขภาพและการดูแลตนเองของผู้สูงอายุในชุมชน ดำเนินโครงการโดย วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในชุมชนเมือง ให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมในการดูแลตนเอง เพื่อสร้างชุมชนผู้สูงอายุที่เข้มแข็งและมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน โดยวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารีมุ่งเน้นการสร้างพยาบาลวิชาชีพด้วยหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่มอบประสบการณ์เรียนรู้แบบบูรณาการองค์ความรู้และการปฏิบัติการพยาบาล มุ่งสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน โดยโครงการนอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในชุมชนเมือง สร้างเครือข่ายชุมชนผู้สูงอายุที่เข้มแข็งและมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนแล้วยังช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาพยาบาลได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ ตามอัตลักษณ์ของนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี คือ รอบรู้ พัฒนา จิตอาสา นำพาความสุข และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนและพัฒนาประเทศชาติสืบไป

ท้ายสุด นวัตกรรมเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาผู้ป่วยในอนาคตด้วยหลายประการ ตั้งแต่ การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำและรวดเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น การนำ AI มาร่วมวินิจฉัยการวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น, การรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้นด้วยการยกระดับพัฒนาเทคนิคการรักษาใหม่ ๆ ช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อยลง นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการผ่าตัดยังช่วยลดความเสี่ยงและความผิดพลาดในการผ่าตัด, การดูแลผู้ป่วยที่เป็นส่วนตัวและเฉพาะบุคคล วิทยาการด้านพันธุศาสตร์และการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ช่วยให้สามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายตามลักษณะพันธุกรรมและปัจจัยอื่นๆ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น, การเข้าถึงการรักษาในพื้นที่ห่างไกล: เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น Telemedicine ช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาและคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล และ การติดตามดูแลผู้ป่วยระยะยาว การใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในการติดตามสุขภาพของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องช่วยให้แพทย์สามารถติดตามอาการและปรับการรักษาได้ทันทีตามความจำเป็น น่ายินดีที่ว่า ทุกวันนี้ นวัตกรรมเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการรักษาและการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยในอนาคต ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยในการรักษาโรคแต่ยังมีส่วนสำคัญในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพของประชากร ไม่ได้ถูกจำกัดหรือลิดรอนด้วย “ทุนทรัพย์” และ “การเข้าถึงของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล” อีกต่อไป

สุขภาพดีถ้วนหน้า ขอพระองค์ทรงพระเจริญฯ

Related Articles

Stay Connected

0FansLike
3,912FollowersFollow
22,100SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles