ฟอร์ด ประเทศไทย ภายใต้การจัดสรรงบประมาณของฟอร์ด ฟิแลนโธรพี หน่วยงานเพื่อสังคมของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี มอบทุนสนับสนุนราว 771,000 บาท แก่มูลนิธิเพื่อชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทย หรือ Karen Hilltribes Trust เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านการมอบทุนการศึกษา สนับสนุนค่าอาหารสำหรับนักเรียนประจำ และการเดินทางไป-กลับของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงยาก สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของฟอร์ดในการห่วงใยสังคม รวมถึงการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำ
“ฟอร์ด ฟิแลนโธรพี ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยเฉพาะการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้” เจน ฮอลโลเวย์ ผู้จัดการ ฟอร์ด ฟิแลนโธรพี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “แม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากเผชิญกับความท้าทายหลายรูปแบบในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปโรงเรียนอย่างยากลำบาก การขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงโภชนาการที่ดี ฟอร์ด ฟิแลนโธรพีจึงทำงานร่วมกับพันธมิตรในการลดความท้าทายในชีวิตประจำวันของนักเรียน และลดความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา”
ฟอร์ด ฟิแลนโธรพี มุ่งให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ชุมชนและประชากรที่ขาดแคลน และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต โดยข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าระหว่างปี 2561-2565 แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดของภาคเหนือต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน และอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดต่อเนื่องหลายปี ฟอร์ด ฟิแลนโธรพี จึงได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยในปี 2566 โดยมอบเงินสนับสนุนมูลค่า 25,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 771,000 บาท เพื่อเสริมศักยภาพโครงการสนับสนุนการศึกษา ประกอบด้วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรับ-ส่ง นักเรียนจาก 30 หมู่บ้านห่างไกลในหุบเขาสูงและยากต่อการเดินทาง เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง
สนับสนุนอาหารเช้า และอาหารเย็น แก่นักเรียนประจำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงใน 6 โรงเรียน ที่ครอบครัวยากจน เสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารและหลุดจากระบบการศึกษา ทุนการศึกษาระยะเวลาหนึ่งปี จำนวน 16 ทุน แบ่งเป็น 11 ทุนสำหรับเด็กนักเรียนระดับอาชีวศึกษา และ 5 ทุนสำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ครอบคลุมค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายในการศึกษา
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทย ก่อตั้งในปี 2545 เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงที่อยู่ทางภาคเหนือของไทย การทำงานนำโดยชุมชน เน้นการส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง ทำให้ชุมชนมีความมั่นใจในการเป็นเจ้าของโครงการ รองรับต่อความยั่งยืนของโครงการในระยะยาว ครอบคลุมการพัฒนาสาธารณสุขของชุมชน เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้กับเด็กและเยาวชน การเข้าถึงน้ำสะอาด และการเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร