ครูว์ : อัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์ T-Series คันแรก ถูกนำกลับมาฟื้นฟูใหม่อีกครั้ง หลังจากเก็บรักษามานานหลายทศวรรษ เครื่องยนต์รุ่น V8 ขนาด 6¼ ลิตรได้รับการสตาร์ทเป็นครั้งแรกในรอบอย่างน้อย 15 ปี โดยเครื่องยนต์และกระปุกเกียร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ยังอยู่ในสภาพดี แม้จะถูกเก็บรักษาเป็นเวลานาน หลังจากโครงการฟื้นฟูนี้ มีกำหนดเวลาอย่างน้อย 18 เดือนในการซ่อมแซมรถยนต์ให้กลับมามีสภาพพร้อมใช้งานอีกครั้ง รุ่น T-Series จะถูกเพิ่มเข้าไปในคอลเลกชันอัครยนตรกรรมคลาสสิค (Heritage Collection) ของเบนท์ลีย์ เป็นคอลเลกชันที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของแบรนด์อันยาวนานกว่า 103 ปี
อัครยนตรกรรมรุ่น T-Series ที่เก่าแก่ที่สุดคันนี้ถูกประกอบขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน ปี 2508 โดยเป็นกรรมสิทธิ์ของทางเบนท์ลีย์ มอเตอร์สและถูกกำหนดให้ทดลองขับทั่วโลก อัครยนตรกรรมคันนี้เสร็จสิ้นการทำเฉดสีภายนอกด้วยเฉดสีเทา Shell Grey และการตกแต่งภายในห้องโดยสารด้วยวัสดุหนังสีน้ำเงิน
รถยนต์ได้รับการเปิดตัวและจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่งาน Paris Motor Show เมื่อ 5 ตุลาคม ปี 2508 แตกต่างอย่างมากจากรุ่นก่อนหน้าอย่างรุ่น S-Type และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอัครยนตรกรรมรุ่น T-Series คือ อัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์คันแรกที่ใช้วิธีการประกอบแบบรวม โดยการใช้ตัวถังแบบไร้โครงแทนโครงรถแบบแชสซี และเทคนิคการประกอบตัวถังที่แตกต่างจากทุกรุ่นก่อนหน้านั้น
เครื่องยนต์รุ่น V8 ขนาด 6¼ ลิตร ผลิตพละกำลังกว่า 225 แรงม้า ได้รับการออกแบบและเปิดตัวครั้งแรกในปี 2502 กับอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์รุ่น S2 ในขณะนั้น เครื่องยนต์มอบสมรรถนะสูงสุดตามน้ำหนักของรถยนต์ที่ 2.7 ปอนด์/แรงม้า (1.2 กก./แรงม้า) เครื่องยนต์ได้รับการวิจารณ์ในแง่ลบในขณะนั้น แต่ด้วยจุดแข็ง ความน่าเชื่อถือ และศักยภาพในการพัฒนา ทำให้เครื่องยนต์รุ่นนี้กลายเป็นเครื่องยนต์หลักของเบนท์ลีย์ในอีก 50 ปีต่อมา โดยก่อนหน้าที่เครื่องยนต์รุ่นนี้ได้ถูกเลิกพัฒนาไปในปี 2562 ตัวเครื่องยนต์สามารถผลิตพละกำลังได้มากกว่าสองเท่าและสามเท่าของแรงบิด ในขณะที่ปล่อยไอเสียน้อยลงกว่า 99%
ในเดือนตุลาคม ปี 2559 เบนท์ลีย์ มอเตอร์สเริ่มกระบวนการฟื้นฟูอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์รุ่น T-Series หมายเลข VIN 001 โดยเริ่มต้นด้วยการถอดขอบและการปรับสภาพตัวถังในเฉดสีขาว ซึ่งหลังจากการเตรียมการเบื้องต้นได้ไม่นาน โครงการฟื้นฟูก็มีอันต้องถูกระงับไปเนื่องจากการเปิดตัวของอัครยนตรกรรมรุ่นใหม่และอัครยนตรกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาอัครยนตรกรรมคลาสสิค ตอนนี้อัครยนตรกรรมรุ่น T-Series ได้กลับมาอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูอีกครั้ง
เรื่องราวของอัครยนตรกรรมรุ่น T-Series
ในปี 2501 เบนท์ลีย์ มอเตอร์เริ่มงานออกแบบโครงสร้างตัวถังแบบไร้โครงเป็นครั้งแรก ซึ่งเบนท์ลีย์เป็นที่รู้จักจากงานออกแบบตัวถังซึ่งเป็นโครงสร้างแชสซีแบบแยกจากกัน แต่จากความคาดหวังและความต้องการของลูกค้าที่ได้เปลี่ยนไปและการออกแบบตัวถังเชิงพานิชย์ที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง ทำให้เบนท์ลีย์ต้องออกแบบอัครยนตรกรรมให้มีขนาดเล็กลงแต่ยังคงพื้นที่ภายในห้องโดยสาร ความหรูหรา และความสะดวกสบายไว้เหมือนเดิมตามความคาดหวังของลูกค้า
ในปี 2505 John Blatchley ผู้มีชื่อเสียงในด้านการออกแบบอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์รุ่น R-Type Continental ได้เสร็จสิ้นการออกแบบภายนอกสำหรับตัวถังแบบไร้โครงแบบใหม่ที่ทำจากเหล็กและอะลูมิเนียม การออกแบบได้ปรับปรุงพื้นที่ภายในห้องโดยสารจากรุ่น S3 รุ่นก่อน มีขนาดตัวถังที่เล็กลง 7 นิ้ว เพดานห้องโดยสารต่ำลง 5 นิ้ว ความกว้างลดลง 3 นิ้วครึ่ง โดยรวมห้องโดยสารมีขนาดพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นและมีช่องเก็บสัมภาระที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มความจุในการเก็บกระเป๋าเดินทาง
สำหรับเครื่องยนต์รุ่น V8 รถยนต์ต้นแบบทั้งหมด 7 คันได้ทำการทดสอบการใช้เครื่องยนต์รุ่น V8 ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยการวิ่งระยะไกลกว่า 100,000 ไมล์ ซึ่งนวัตกรรมการออกแบบได้รวมถึงการติดตั้งซับเฟรมที่แยกจากกันเพื่อการติดตั้งเครื่องยนต์และเกียร์ ระบบกันสะเทือน พวงมาลัย และเพลาหลัง พร้อมฐานรองยาง ‘Vibrashock’ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อแยกเสียงรบกวนภายนอกและการสั่นสะเทือนบนท้องถนน
อัครยนตรกรรมรุ่น T-Series ประกอบจากโครงรถนวัตกรรมชั้นสูงพร้อมระบบกันสะเทือนแบบอิสระทั้งสี่ล้อพร้อมระบบควบคุมความสูงอัตโนมัติตามน้ำหนักบรรทุก แรงกดสำหรับระบบกันสะเทือนแบบปรับระดับอัตโนมัติมาจากระบบเบรกแบบไฮดรอลิก ประกอบด้วยดิสก์เบรกทั้งสี่ล้อ และระบบกันสะเทือนของช่วงล่างและคอยล์สปริงบริเวณด้านหน้าและด้านหลัง
อัครยนตรกรรมรุ่นนี้คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการปฏิวัติทางวิศวกรรมยานยนต์ เนื่องจากเป็นอัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์คันแรกที่เป็นการประกอบจากตัวถังแบบไร้โครงและน้ำหนักเบา มอบสมรรถนะที่น่าประทับใจในประเภทของรถยนต์แบบซีดานในปี 2508 ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 115 ไมล์ต่อชั่วโมง และสามารถทำความเร็ว 0-62 ไมล์ต่อชั่วโมงภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10.9 วินาที
อัครยนตรกรรมเบนท์ลีย์รุ่น T-Series รุ่นแรกถูกประกอบขึ้นจำนวนกว่า 1,868 คัน โดยมีราคาขายก่อนภาษีอยู่ที่ 5,425 ปอนด์ โดยส่วนใหญ่เป็นรถเก๋งซีดานแบบสี่ประตู สำหรับรุ่นสองประตูถูกประกอบขึ้นในปี 2509 และอีกหนึ่งปีต่อมาได้มีการเปิดตัวรุ่นเปิดประทุน อย่างไรก็ตาม จำนวนการผลิตของ 2 รุ่นนี้มีอยู่เพียงแค่ 41 คันเท่านั้น โดยมีอัครยนตรกรรมรุ่นที่ 2 หรือที่รู้จักกันในนามว่ารุ่น T2 เปิดตัวในปี 2520 และผลิตต่อมาจนถึงปี 2523
เอเอเอสฯ มอบข้อเสนอที่ดีที่สุดในการครอบครอง เบนท์ลีย์ เบนเทก้า ไฮบริด ใหม่ (New Bentayga Hybrid) ราคาเริ่มต้น 13.2 ล้านบาท และ เบนท์ลีย์ ฟลายอิ้ง สเปอร์ ไฮบริด ใหม่ (New Flying Spur Hybrid) ราคาเริ่มต้น 14.2 ล้านบาท พร้อมการรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริดนาน 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร (อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน) การรับประกันจากโรงงานผู้ผลิตฯ พร้อมตัวเลือกสำหรับแผนต่อระยะเวลาการรับประกันจากโรงงานผู้ผลิต (Bentley Extended Warranty) สูงสุด 4 ปี และผู้ช่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง นาน 3 ปีเต็ม