เปิดตัวภาพสเก็ตช์ “ชุดศิวิไลซ์” ชุดประจำชาติของไทย สู่ เวที Mister & Miss Supranational 2021 สร้างสรรค์โดย ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ ที่นำแรงบันดาลใจจากครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป
หนึ่งในไฮไลท์ที่คนทั้งโลกต่างจับตามองในทุก ๆ เวทีการประกวดระดับแกรนด์สแลม คือ การออกแบบชุดประจำชาติของประเทศต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับเวทีการประกวด Mister & Miss Supranational 2021 ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ณ ประเทศโปแลนด์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เราได้ทราบชื่อสาวงามและหนุ่มหล่อมากความสามารถที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดครั้งนี้ นั่นก็คือ ควีนนี่-เบญจรัตน์ อัครวณิชศิลป์ เอบิ และ ต้นกล้า-นิปุณ แก้ว เรือน และล่าสุดในเฟซบุ๊กเพจ Miss & Mister Supranational Thailand ได้เผยภาพสเก็ตช์ชุดประจำชาติของประเทศไทยที่ได้รับการออกแบบโดย เจ้าของรางวัลรางวัลนาฏราช สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมจาก ภาพยนตร์ชุดศรีอโยธยา ครูตุ้ย-ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ นักออกแบบผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยชั้นครู ทั้งยังเป็นศิษย์เอกของบุคคลผู้เป็นตำนานและปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ผ้าไทยอย่าง อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ อีกด้วย ศิวิลัย
“ชุดศิวิไลซ์” เป็นชื่อชุดประจำชาติไทยในเวทีซูปราฯ ประจำปี 2564 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิด “หวนคิดถึง” ย้อนหน้าประวัติศาสตร์ไปยังยุค Edwardian เมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จเยือนประเทศรัสเซีย ในการเสด็จประพาสยุโรป ซึ่งในห้วงเวลานั้น “โปแลนด์” ยังเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียอยู่ ชุดแต่งกายของไทยในยุคสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากตะวันตกผสมผสานกับชุดไทยแบบตะวันออก ผมจึงนำแนวคิดนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชุดประจำชาติ ประกอบกับการได้มีโอกาสพูดคุยเรียนรู้ ควีนนี่ และ ต้นกล้า ในการเวิร์คชอปชุดไทยถึง 2 ครั้ง จนตกผลึกเป็นไอเดียเสกสรรค์ชุดประจำชาติที่มั่นใจว่าทั้งสองตัวแทนประเทศไทยจะสามารถนำเสนอความสง่างามสะกดสายตาคนทั่วโลกได้
จากงานสเก็ตช์จะเห็นความผสมผสานสองอารยธรรมของฝั่งตะวันตกและตะวันออก ชุดของมิสซูปราฯ เราจะใช้ผ้าลูกไม้ ตัดเย็บด้วยแพตเทิร์นแบบตะวันตกที่เน้นความสมจริง ออกแบบช่วงแขนเป็นลักษณะทรงหมูแฮมที่พองตรงต้นแขน ซึ่งเสื้อทรงนี้เป็นแฟชั่นชั้นสูงของสตรีในยุค Victorian Edwardian นุ่งคู่กับ ผ้าโจงกระเบน ที่ทอขึ้นเป็นผ้าไหมยกดอกลายเล็ก อย่างลายดอกพิกุล ลายราชวัตร ให้ความเรียบโก้ สง่างาม เลือกใช้สีที่มีความเป็นไทยอย่าง สีม่วง โอรส และส้มอิฐ เพราะเป็นสีที่ขับผิวของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ชุดประจำชาติของ มิสเตอร์ ซูปราฯ เราได้เลือกเสื้อท่อนบนเป็นชุดสูทสากลตะวันตก โดยนำบุคลิกของ ต้นกล้า ที่มีความสุภาพอ่อนโยนในตัวเอง เมื่อสวมสูทแล้วจะให้ลุคความเป็นสุภาพบุรุษ หรือ Gentleman จับคู่กับ ผ้าโจงกระเบน เช่นเดียวกันกับชุดของควีน โดยข้อกำหนดของตนที่อยากให้ทางกองประกวดได้ปฏิบัติตามคือทั้ง 2 คนจะต้องนุ่งโจงกระเบนได้ด้วยตนเอง ผมจะไม่ใช้โจงกระเบนสำเร็จรูปขึ้นเวที เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเครื่องแต่งกายไทยในมุมมองที่มีความเรียบง่าย ทุกคนเข้าถึงได้ สามารถมิกซ์แอนด์แมทช์กับชุดอื่น ๆ ได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เป็นเครื่องแต่งกายที่มีความพอเพียง เพราะผ้าโจงกระเบนของไทย พิเศษมากตรงที่ ไม่มีไซส์ ไม่มีเพศ ไม่มีอายุ และ ไม่มีชนชั้นวรรณะ เรียกได้ว่าความเบสิคที่มหัศจรรย์มาก ๆ
เชื่อว่า “ความสง่างาม” ของชุดประจำชาติไทยประจำปี 2564 จะสามารถสะกดสายตาคนทั่วโลกได้อย่างแน่นอน แม้ว่าธรรมชาติของชุดไทยจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการ หากแต่ให้ความงามสง่าชดชมดชม้อยในทุกย่างก้าว สะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่ เมื่อสัมผัสได้ว่า ทั้งควีนนี่ และ ต้นกล้า มีแพสชั่นที่เข้ากับโจงกระเบนมากที่สุดจึงได้ให้การบ้านกับทั้งคู่ไปว่า ในทุกวันครูขอให้ใช้เวลากับการนุ่งโจงกระเบนอย่างน้อยวันละ 1 ชั่งโมง เพื่อให้มีความคุ้นเคยกับชุด เพราะเมื่อไหร่ที่เราสวมใส่โจงกระเบนได้อย่างคล่องแคล่ว คุ้นชิน จะเกิดเป็นกิริยาที่เรียกว่า “นาฏการ” หรือ การเคลื่อนไหวที่สวยงามตามธรรมชาติที่เกิดจากการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่จะนำไปสู่ความงดงามบนเวที Mister & Miss Supranational 2021 ณ ประเทศโปแลนด์ ในครั้งนี้