31.9 C
Bangkok
Friday, November 8, 2024
https://www.thaihonda.co.th/honda/
https://www.thaihonda.co.th/honda/
https://www.thaihonda.co.th/honda/
https://www.thaihonda.co.th/honda/
previous arrow
next arrow

วิกฤตการณ์ขาดแคลน Semiconductor ในอุตสาหกรรมยานยนต์

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัว แต่ยังมีบางธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบด้านบวก อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ การขนส่งสินค้า อุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์และสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์และสื่อสารโทรคมนาคมเติบโตอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากกิจการต่างๆ ปรับรูปแบบให้พนักงานทำงานจากที่พักอาศัย (Work from home) แทน รวมทั้งความต้องการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยเหลือเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความบันเทิงในที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการ Semiconductor ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ดังกล่าวเติบโตขึ้นมากเช่นกัน

ในปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ผลิต Semiconductor รายใหญ่จำนวน 17 ราย โดยมีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 90 ของตลาด Semiconductor ในปี ค.ศ. 2020 ผลิตเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย อุปกรณ์สื่อสารแบบมีสาย สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อุปกรณ์ต่อพ่วงของคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องแม่ข่ายและศูนย์ข้อมูล และมี 7 ราย เป็นผู้ผลิต Semiconductor สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ NXP Infineon NVDIA AMD Qualcomm Texas instrument และ Renesas โดยผู้ผลิตทั้ง 7 รายนี้ มียอดจำหน่าย Semiconductor สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 ของยอดจำหน่ายทั้งหมดเท่านั้น และมี NXP Infineon Renesas และ Texas instrument เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของ Semiconductor สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

ศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์ ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของการขาดแคลน Semiconductor ในอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิต Semiconductor แล้วนั้น ยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่ทำให้เกิดการขาดแคลน Semiconductor ในอุตสาหกรรมยานยนต์

ประการแรก ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ค.ศ. 2020 โรงงานผลิตยานยนต์ทั่วโลกได้หยุดการผลิตชั่วคราว เพื่อดำเนินการตามมาตรการ Lockdown ของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ทำให้คำสั่งซื้อ Semiconductor สำหรับยานยนต์ขาดช่วงไป ประกอบกับความต้องการใช้งาน Semiconductor ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเติบโต ทำให้ผู้ผลิต Semiconductor ปรับสายการผลิตไปผลิต Semiconductor ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้กับระบบ 5G คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer: PC) และเครื่องแม่ข่าย (Server)

ประการที่สอง แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นตัวกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง แต่กระบวนการสั่งซื้อ Semiconductor ใช้เวลานานหลายเดือน โดยการสั่งซื้อ Semiconductor จากโรงงานผลิตเดิมต้องการเวลาล่วงหน้าถึง 4 เดือน ในขณะที่การสั่งซื้อ Semiconductor จากโรงงานใหม่ของผู้ผลิตรายเดิมต้องการเวลาตั้งสายการผลิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 เดือน และหากผู้ผลิตรถยนต์ต้องการเปลี่ยนผู้ผลิตรายใหม่ ต้องใช้เวลาในการเตรียมการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี หรือมากกว่า

นอกจากนั้น หาก Semiconductor ใช้องค์ความรู้จากสิทธิบัตรของผู้ผลิตรายเดิม จะต้องดำเนินการขออนุญาตผลิตเพิ่มเติม และต้องผ่านกระบวนการภายในบริษัท เพื่อยืนยันคำสั่งซื้อซึ่งจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นไปอีก

ประการที่สาม การเพิ่มกำลังการผลิตในสายการผลิตเดิมไม่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจาก อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรม Semiconductor อยู่ที่ประมาณร้อยละ 88 เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงมากแล้ว และการเพิ่มกำลังการผลิตโดยการตั้งโรงงานใหม่จะใช้เวลากว่า 2 ปีในการก่อสร้าง ผู้ผลิตต้องมีการออกแบบ Semiconductor และกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ที่ใช้เวลาในการเตรียมการอีกหลายปี กว่าจะเริ่มผลิต Semiconductor ที่มีจำนวนมากได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้พิจารณาเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิต Silicon Wafer ผลิต Semiconductor และผลิต Printed Circuit Board Assembly เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ต้องการเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูงขึ้น และต้องใช้เงินลงทุนสูง โดย อุตสาหกรรมผลิต Silicon Wafer จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10 ปี จากเดิมสูงสุด 8 ปี ในส่วนของอุตสาหกรรมผลิต Semiconductor จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี จากเดิม 5 ปี แต่ต้องมีการลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 1,500 ล้านบาท ในขณะที่อุตสาหกรรมผลิต Printed Circuit Board Assembly จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี จากเดิม 3 ปี เช่นเดียวกัน แต่ต้องมีการลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลน Semiconductor ไม่ได้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงเท่านั้น เนื่องจากการพัฒนาทาง Technology และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการ Semiconductor เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่ากำลังการผลิตในปัจจุบัน โดยทั้งภาครัฐและเอกชนของหลายประเทศพยายามแก้ปัญหา ผ่านการบริหารจัดการกระบวนการจัดซื้อและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต แต่อย่างไรก็ดีการลงทุนตั้งโรงงาน่ใหม่จำเป็นต้องใช้เวลา อาจจะยังส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลน Semiconductor ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงระยะเวลา 1 – 2 ปี

ติดตามอ่าน แนวทางมาตรการแก้ปัญหาการขาดแคลน Semiconductor ระยะสั้น และระยะยาว ได้ที่เว็บไซต์สถาบันยานยนต์ http://www.thaiauto.or.th หรือ “ศูนย์สารสนเทศยานยนต์

Related Articles

Stay Connected

0FansLike
3,912FollowersFollow
22,100SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles