ปตท. เผยผลการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 20-24 มี.ค. 66 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 27-31มี.ค.66 โดยตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเบรนท์ (ICE Brent) ราคา 75.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาลดลง -0.58 ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของ เวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ราคา 69.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาลดลง -0.28 เหรียฐสหรัฐฯ ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปดูไบ (Dubai) ราคา 73.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาลดลง -3.66 เหรียญ สหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปซื้อซื้อขายล่วงหน้าประเทศสิงคโปร์ ราคาเบนซินออกเทน 95 ปรับราคาลดลง -1.96 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 95.73 เหรียญ สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดีเซลราคาปรับราคาลดลง -2.95 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 99.05 เหรียญสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในสัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ยลดลงต่อเนื่องสัปดาห์ที่ 3 จากความกังวลผลกระทบปัญหาสถาบันการเงินในยุโรปจะลุกลามต่อ ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน โดยวันที่ 24 มี.ค. 66 ราคาหุ้น Deutsche Bank (DB) ปิดตลาดลดลง 8.5 % มาอยู่ที่ 8.54 ยูโร ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หลัง Credit Default Swap (CDS) ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 142 จุด มาอยู่ที่ 173 จุด สูงสุดในรอบ 4 ปี โดย Deutsche Bank เป็นธนาคารใหญ่อันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของธนาคารสัญชาติของเยอรมนี มูลค่าสินทรัพย์ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาหุ้นของธนาคารอื่นๆ ในยุโรปลดลงด้วยเช่นกัน อาทิ Commerzbank ของเยอรมนี ลดลง 5.5%, UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ ลดลง 3.5%
ขณะเดียวกัน รมว. กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ Jennifer Granholm แถลงว่าในปีนี้สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องเร่งเติมน้ำมันดิบเข้าคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) แม้ขณะนี้ ราคา NYMEX WTI ปิดตลาดต่ำกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ เคยกล่าวว่า จะพิจารณาเข้าซื้อน้ำมันดิบเติมเข้าคลังสำรอง หากราคาน้ำมันดิบลดลงเข้าสู่ช่วง 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
จับตาการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 เม.ย. 66 โดยตลาดคาดว่า OPEC+ จะคงนโยบายการผลิตน้ำมันดิบด้วยการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 แม้ว่าจะเกิดวิกฤตธนาคารในช่วงที่ผ่านมา โดยทางเทคนิคราคา ICE Brent ในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวระหว่าง 74-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 4.75-5.0% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 21-22 มี.ค. 66 ตามที่ตลาดคาดการณ์ และอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ภายในปี 66
Goldman Sachs ปรับลดประมาณการราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าราคา ICE Brent จะเฉลี่ยอยู่ที่ 97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายในไตรมาส 2/67 จากอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ โดยคาดว่าอุปสงค์ของจีนในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 15.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และในปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 16.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
กลุ่มประเทศ G7 ประกาศเลื่อนกำหนดทบทวนตัวเลขราคาตามมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียทางทะเล (Price Cap) ช่วงกลางเดือน มี.ค. 66 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ การกำหนดราคาน้ำมันรัสเซียที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 ทำให้รายได้จากการจำหน่ายน้ำมันดิบของรัสเซียเดือน ม.ค. 66 ลดลง 40% จากปีก่อนหน้า
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
* ธนาคาร Union Bank of Switzerland (UBS) ในสวิตเซอร์แลนด์บรรลุข้อตกลงซื้อธนาคาร Credit Suisse มูลค่า 3 พันล้านฟรังก์สวิส (3.23 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยธนาคารแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์จะหนุนสภาพคล่องด้วยการปล่อยกู้ให้ 1 แสนล้านฟรังก์สวิส (1.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ)
* หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย เดือน ม.ค.-ก.พ. 66 อยู่ที่ 1.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน (+24% จากปีก่อนหน้า) สูงกว่าปริมาณนำเข้าจากซาอุดีอาระเบียที่ 1.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน (-4.7% จากปีก่อนหน้า)