ปตท. รายงานผลการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 10-14 ก.ค.66 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 17-21 ก.ค.66 โดยตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเบรนท์ (ICE Brent) ราคา 79.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +3.18 ตลาดน้ำมันสำเร็จรูป เวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ราคา 75.18 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +3.37 เหรียญ สหรัฐฯ ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปดูไบ (Dubai) ราคา 80.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +3.80 เหรียญ สหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปซื้อซื้อขายล่วงหน้าประเทศสิงคโปร์ ราคาเบนซินออกเทน 95 ปรับราคาเพิ่มขึ้น +5.38 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 96.74 เหรียญ สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดีเซลราคาปรับราคาลดลง +5.62 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 99.64 เหรียญสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 14 ก.ค. 66 เพิ่มขึ้น 3.18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 79.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาปิด 14 ก.ค. 66 อยู่ที่ 79.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งในวันที่ 12 ก.ค. 66 ราคา ICE Brent ยืนเหนือระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 หลังข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก มีแนวโน้มชะลอตัว บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเข้าใกล้จุดสูงสุด ทำให้นักลงทุนมองว่าอาจเป็นปัจจัยที่ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Fed) พิจารณาไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม 25-26 ก.ค. 66
ด้านอุปทานน้ำมัน 7 ก.ค. 66 Petroleos Mexicanos (Pemex) รัฐวิสาหกิจพลังงานของเม็กซิโกรายงานการเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่แหล่งผลิต Cantarell (1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน) ใน Gulf of Mexico ทำให้แท่นผลิตต้องหยุดดำเนินการ และ 12 ก.ค. 66 Shell Petroleum Development Company of Nigeria Ltd. (SPDC) บริษัทลูกของ Shell ในไนจีเรีย ระงับการขนถ่ายน้ำมันดิบที่ท่า Forcados (5 แสนบาร์เรลต่อวัน) หลังมีผู้เห็นควันไฟใกล้ทุ่นจอดเรือ (Buoy Mooring) เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจากการรั่วไหล และกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนสาเหตุ ทั้งนี้ ท่าดังกล่าวมีแผนส่งมอบน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 66 ที่ 2.2 แสนบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ 14 ก.ค. 66 ผู้นำชนเผ่า Zawi ในลิเบีย Al-Senussi al-Ahlaiq แจ้งเหตุผู้ประท้วงปิดแหล่งผลิตน้ำมันหลายแห่ง อาทิ El Sharara (3 แสนบาร์เรลต่อวัน) และ El Feel (0.7 แสนบาร์เรลต่อวัน) เพื่อกดดันรัฐบาลลิเบียให้รับผิดชอบต่อกรณีการหายตัวของ Faraj Bumatari อดีต รมว. กระทรวงการคลังในรัฐบาลชุดก่อน และเป็นหนึ่งในผู้ชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งลิเบีย อย่างไรก็ดี 15 ก.ค. 66 สำนักงานอัยการสูงสุดปล่อยตัว Bumatari
ทั้งนี้ Platts รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ 1.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ตามรายงานฉบับเดือน ก.ค. 66 ของ IEA, EIA และ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 101.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และในปี 2567 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 103.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
ในสัปดาห์นี้คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 78-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากการลดปริมาณการผลิตของซาอุดีอาระเบีย และการลดปริมาณการส่งออกของรัสเซีย ประกอบกับสถานการณ์ในลิเบียและไนจีเรีย ที่ส่งผลให้อุปทานในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้น สวนทางกับอุปสงค์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
– กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) บ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ +3.0% จากปีก่อนหน้า ต่ำสุุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 64
– Kurdistan Regional Government รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานในอิรัก ไตรมาส 1/66 ลดลง 8.6% จากไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ 4.08 แสนบาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุข้อพิพาทระหว่างอิรักและตรุกี รวมทั้งเหตุแผ่นดินไหวตั้งแต่เดือน ก.พ. 66
– สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ +6.3% จากปีก่อนหน้า (ไตรมาส 1/66 อยู่ที่ +4.5% จากปีก่อนหน้า)
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
– Euroilstock รายงานโรงกลั่นในสหภาพยุโรป 14 ประเทศ รวมนอร์เวย์และสหราชอาณาจักร นำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Crude Throughput) ในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 0.6% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 9.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน
– EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 7 ก.ค. 66 เพิ่มขึ้น 5.9 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 458.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์